GMM Grammy : จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
อุตสาหกรรม : อุตสาหกรรมบันเทิง / งานสันทนาการ
องค์กรที่คนรุ่นใหม่ต้องการเข้าทำงาน เป็นผู้นำด้านสื่อและธุรกิจบันเทิงที่ครบวงจรที่สุดของประเทศไทย เป็น Top of mind brand ในด้านงานในวงการบันเทิงสาขาต่างๆ ซึ่งดำเนินไปอย่างมีคุณภาพในระดับสากล เพื่อส่งมอบความสุขและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคในทุกช่องทางอย่างไร้ขีดจำกัด สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ซึ่งสวัสดิการที่พนักงานจะได้รับประกอบไปด้วย วันหยุดพักผ่อนตามปกติ ลากิจ ลาป่วย ค่ารักษาพยาบาล ตรวจร่างกายประจำปี บริษัทยังมีห้องพยาบาล พร้อมแพทย์และพยาบาล จาก ร.พ. สมิติเวช มาประจำอยู่ทุกวัน ที่มากไปกว่านั้นในวันที่พนักงานต้องการลาหยุดสำหรับวันพิเศษ บริษัทสามารถให้พนักงานลาหยุดได้มากถึง 5 วัน ซึ่งถือว่าแตกต่างจากองค์กรอื่น
ธุรกิจของบริษัท
การประกอบธุรกิจของบริษัทฯ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มธุรกิจ คือ 1) ธุรกิจหลัก 2) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และ 3) ธุรกิจจากการร่วมค้า ทั้งนี้ สามารถแยกตามลักษณะของธุรกิจที่ดำเนินกิจการได้ดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจหลัก
ดำเนินการภายใต้โมเดล “การให้บริการเพลงแบบครบวงจร” (Total Music Business) ตั้งแต่การคัดเลือกศิลปิน การผลิตผลงานเพลง การทำการตลาด การบริหารลิขสิทธิ์เพลง การจัดจำหน่ายสินค้าเพลงผ่านช่องทาง Physical และ Digital การจัดคอนเสิร์ต และธุรกิจบริหารศิลปิน
1.1 ธุรกิจเพลง
ธุรกิจสินค้าเพลง
ดำเนินการจัดจำหน่ายสินค้าเพลง อาทิ อัลบั้ม MP3 ในรูปแบบของ DVD USB หรือ Boxset ต่างๆ เป็นต้น โดยทำการกระจายสินค้าผ่านช่องทางร้านค้าแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ร้านค้าแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) ร้านค้าย่อย (Kiosk) รวมถึงการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และคอลเซ็นเตอร์ธุรกิจดิจิทัลมิวสิค
จากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจเพลงจึงได้พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทฯมากขึ้น โดยการนำคอนเทนต์เพลงมาปรับให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อขยายธุรกิจสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, iTunes, JOOX, Line TV หรือ Spotify โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกฟังเพลงออนไลน์แบบออนดีมานด์ ฟังจากเพลย์ลิสต์ หรือดาวน์โหลดเพลงเพื่อเปิดฟังแบบออฟไลน์- ธุรกิจการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์
- ดำเนินการบริหารและจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะนำผลงานเพลงของบริษัทฯ ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ อาทิ สื่อวิทยุ ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ เป็นต้น
1.2 ธุรกิจโชว์บิซ
ดำเนินธุรกิจจัดงานแสดงคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี โดยมีรายได้หลักมาจากการจำหน่ายบัตร การสนับสนุนของสปอนเซอร์และการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยในปี 2561 กลุ่มบริษัทฯประสบความสำเร็จอย่างมากในการจัดงานคอนเสิร์ตดังที่เห็นได้จากปรากฏการณ์ขายบัตรคอนเสิร์ตหมด (“Sold Out”) ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต Genie Fest 19 ปี กว่าจะร็อกเท่าวันนี้, PECK PALITCHOKE ''FIRST DATE'' Concert, MY NAME is NOOM KALA, Clash Awake Concert, OAT PRAMOTE SHOW The Uncensored และ แบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งที่ 11 DREAM JOURNEY นอกจากนี้ยังมีการจัดเทศกาลดนตรี ได้แก่ นั่งเล่น มิวสิค เฟสติวัล 3, What The Fest Music Festival และส่งท้ายปลายปีกับ Big Mountain Music Festival 9 ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมทั่วประเทศ
1.3 ธุรกิจบริหารศิลปิน
บริษัทฯ มีนโยบายฝึกทักษะและพัฒนาศิลปินเพื่อเพิ่มความสามารถทางด้านการร้องเพลง และการแสดง เพื่อยกระดับไปสู่ความเป็นศิลปินมืออาชีพอย่างแท้จริง ทั้งนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญในจัดหางานและเพิ่มช่องทางการหารายได้ให้แก่ศิลปิน ทั้งในรูปแบบงานจ้าง คอนเสิร์ต ผับ บาร์ และงานพรีเซนเตอร์สินค้า ส่งผลให้ศิลปินแกรมมี่เป็นที่ชื่อชอบและได้รับความนิยมในทุกยุคทุกสมัย
1.4 ธุรกิจอื่นๆ
บริษัทฯ ทำธุรกิจเช่าพื้นที่ จัดงานแสดง จัดกิจกรรม และจัดคอนเสิร์ตขนาดกลาง ภายใต้ชื่อ เมืองไทย GMM Live House ณ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และมีโรงเรียนสอนดนตรี GR Vocal ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนธุรกิจโชว์บิซและธุรกิจบริหารศิลปิน เพื่อต่อยอดและสร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่มธุรกิจเพลง
แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมและการแข่งขัน
ในฐานะผู้นำธุรกิจเพลง บริษัทฯมุ่งมั่นขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคใหม่ภายใต้อิทธิพลของสื่อดิจิทัล ซึ่งเปิดโอกาสให้ศิลปินเข้าถึงผู้ฟังทั่วโลกได้อย่างกลมกลืน และสามารถประเมินความสำเร็จของเพลงด้วยดัชนีชี้วัดความนิยมได้อย่างชัดเจน โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับโมเดลธุรกิจเพลงให้ก้าวทันการแข่งขันในยุคที่เป็นดิจิทัลทั้งระบบ รองรับการเติบโตของระบบสตรีมมิ่งเพลง หรือการฟังเพลงผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ โดยได้รวบรวมมาจัดเป็นเพลย์ลิสต์ที่ทำให้ผู้บริโภคฟังเพลงมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว จากช่องทางการรับฟังที่หลากหลาย ผ่านความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ JOOX Spotify LINE YouTube โดยภารกิจสำคัญของแกรมมี่นับจากนี้ คือ การพัฒนาคอนเทนต์ที่แข็งแรงและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ที่เป็นคอนเทนต์โพรวายเดอร์อย่างแท้จริง
2. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
2.1 ธุรกิจภาพยนตร์
ดำเนินการภายใต้ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โดยมีภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2561 ได้แก่ “น้อง.พี่.ที่รัก” “โฮมสเตย์” และภาพยนตร์สารคดี “2,515 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลัง โครงการวิ่งการกุศล “ก้าวคนละก้าว” ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายผลิตภาพยนตร์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 เรื่องต่อปี โดยผลิตภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหลากหลายแตกต่างกันไปแต่ยังคงไว้ซึ่งแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งบริษัทฯ มีความพร้อมทั้งในด้านการผลิต และศักยภาพของบุคลากร ทีมงานที่มีความชำนาญ เพื่อนำเสนอภาพยนตร์ที่มีความแปลกใหม่ และสร้างความสุขให้กับผู้ชมภาพยนตร์ไทย
แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมและการแข่งขัน
ในปี 2561 ภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและเติบโตอีกครั้ง สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อเรื่องและส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนหนังไทยหนังฟอร์มยักษ์ที่เข้าฉายในปีนี้มีมากกว่าปีก่อน ประกอบกับการขยายสาขาของโรงภาพยนต์ในต่างจังหวัดที่ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่นิยมบริโภคหนังไทยได้มากขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงเนื่องจากใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และความสำเร็จของภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับกระแสความนิยมของผู้ชม ซึ่งแนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2562 คาดว่ามูลค่าสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์จะเติบโตต่อเนื่องจากปริมาณสาขาของโรงภาพยนตร์ที่มากขึ้นโดยเฉพาะในต่างจังหวัดและในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ประกอบการต่างมีมุมมองต่อภาพยนตร์ไทยในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการผลิต การฉายทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การทำให้ภาพยนตร์ไทยประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายนอกและภายในหลายประการ ทำให้ต้องให้ความสำคัญต่อการพิจารณาเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ประทับใจผู้ชมและสามารถสร้างความนิยมเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ
- เนื้อหาและบทภาพยนตร์ ต้องมีความแปลกใหม่ โดดเด่น โดยผู้เขียนบทภาพยนตร์ต้องใช้ทักษะในการเขียนทั้งภาษาหนัง ภาษาพูด เพื่อให้สื่อความกับกลุ่มคนดูเป้าหมายได้อย่างชัดเจน
- สร้างการรับรู้ (Branding) ค่ายหนังหรือสตูดิโอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ชมภาพยนตร์ว่าจะได้รับชมภาพยนตร์ที่มีคุณภาพอยู่เสมอ
- วิเคราะห์ทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อกำหนดแนวของภาพยนตร์ เตรียมบทภาพยนตร์ ดารานักแสดงและแผนประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสม ที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้
2.2 ธุรกิจโฮม ช้อปปิ้ง
เป็นธุรกิจจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางการจัดจำหน่าย แบบตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องรายการที่ใช้ชื่อว่า‘โอ ช้อปปิ้ง (O Shopping)’ ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้แม้อยู่ภายในบ้านของตนเอง บริหารงานโดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และบริษัท ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการโฮม ช้อปปิ้งชั้นนำในประเทศเกาหลีใต้ โดยมีเป้าหมายคือการทำให้ โอ ช้อปปิ้ง ขึ้นเป็นผู้นำช่องโฮม ช้อปปิ้ง อันดับหนึ่งของเมืองไทย โดยใช้กลยุทธ์การนำเสนอรายการช่องโฮม ช้อปปิ้งในรูปแบบที่แตกต่าง ภายใต้แนวคิด Be better, Everyday life “ยิ่งรู้จักโอ ช้อปปิ้ง ยิ่งทำให้ทุกๆ วันของชีวิตดีขึ้น”
แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมและการแข่งขัน
ในปี 2561 โอ ช้อปปิ้ง ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงามอย่างมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกค้าผู้หญิง ปัจจุบันตลาดโฮมช้อปปิ้งมีมูลค่าสูงกว่า 13,000 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ธุรกิจโฮม ช้อปปิ้ง ยังมีศักยภาพในการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2562 โอ ช้อปปิ้งจะมุ่งหน้าขยายกลุ่มเป้าหมายสู่คนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมานิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์ โดยโอ ช้อปปิ้ง ได้วางกลยุทธ์มุ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายใต้จุดแข็ง คือ การขายสินค้าในช่องโอ ช้อปปิ้ง มาเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักช้อปออนไลน์ บริษัทฯ เชื่อว่าภาพรวมธุรกิจโฮม ช็อปปิ้ง จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้การแข่งขันจะสูงขึ้น แต่บริษัทฯ ยังสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมถึงขยายฐานลูกค้าใหม่ได้มากยิ่งขึ้น บริษัทฯ ให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อมรับมือกับการแข่งขัน เพื่อให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนี้
- สร้างสรรค์เนื้อหารายการโทรทัศน์ให้น่าสนใจและมีเอกลักษณ์ ผ่านรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคให้สั่งซื้อสินค้า
- การสร้างความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพของสินค้า การให้บริการที่ตรงตามโฆษณา การรับประกันคุณภาพสินค้า ระบบการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพและระบบการชำระเงินที่มีความปลอดภัย
- การเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและเน้นสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตเช่น สินค้าแฟชั่น สินค้าไลฟ์สไตล์ และสินค้าอีคอมเมิร์ซเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกกลุ่ม รวมทั้งเพิ่มจำนวนสินค้าให้มากขึ้น
- การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายไปสู่ระบบการขายผ่านออนไลน์ และแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน รวมถึงโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น